วันเสาร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ชาวพุทธตัวอย่าง : สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส



๑) พระประวัติ

     สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระนามเดิมว่า พระองค์เจ้ามนุษยนาคมาณพ ประสูติเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๔o๒ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาแพ
วันที่พระองค์ประสูตินั้น เกิดเหตุการณ์มหัศจรรย์ คือ ท้องฟ้าซึ่งแจ่มใสอยู่ก่อนหน้านั้น พลันมืดครึ้มและมีฝนตกลงมาอย่างหนัก จนน้ำนองชาลาพระตำหนัก พระราชบิดาทรงรำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งพระพุทธองค์ประทับใต้ต้นมุจลินท์ (ต้นจิก) หลังตรัสรู้มีฝนตกพรำๆ ตลอดเจ็ดวัน พยานาคขึ้นมาจากพิภพบาดาล มาแผ่พังพานบังลมบังฝนให้ พระราชบิดาจึงทรงขนานพระนามพระราชโอรสว่า “มนุษยนาคมาณพ” แปลว่า คนผู้เป็นนาค หรือ นาคจำลองเป็นตนหนุ่ม
เมื่อทรงพระเยาว์ได้เรียนหนังสือขอม และภาษามคธจากพระยาปริยัติธรรมธาดา (เปี่ยม) เมื่อครั้งยังดำรงบรรดาศักดิ์เป็นหลวงราชาภิรมย์ปลัดกรมราชบัณฑิต เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ทรงตั้งโรงเรียนสอนภาษอังกฤษขึ้น พระองค์เจ้ามนุษยนาคมาณพ ก็ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนนี้ โดยมีมิสเตอร์ฟรานซิส แพตเตอร์สัน เป็นผู้ถวายความรู้
เมื่อพระชันษาได้ ๑๓ พรรษา ก็ทรงโสกันต์ (โกนจุก) ในปีรุ่งขึ้นก็ทรงผนวชเป็นสามเณร ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๖ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ครั้งดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นบวรรังสีสุริยพันธุ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ทรงผนวชแล้วเสด็จมาประทับที่วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงผนวชอยู่เป็นเวลา ๗๗ วัน ก็ทรงลาสิกขา (สึก)

   ๑.๑) สาเหตุที่ผนวชเป็นภิกษุ หลังจากลาสิกขาจากสามเณรแล้ว อยู่ในวัยหนุ่มก็ไม่มีนิสัยคบกับสตรี จนมีความคิดว่าไม่อยากแต่งงาน อยากอยู่เป็นโสดมากกว่า พอดีได้ทรงรู้จักกัลยามิตรฝรั่งท่านหนึ่ง คือ หมอปีเตอร์ เคาวัน ทรงประทับใจในความเป็นอยู่อย่างง่ายแบบหมอเคาวัน หมอเคาวันได้ถวายคำแนะนำไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข จึงทรงถือหมอเคาวันเป็นอาจารย์ พระองค์ได้ศึกษาธรรมในพระพุทธศาสนาเป็นพื้นฐานแห่งชีวิต จนแน่ใจว่าชีวิตของพระองค์เหมาะสำหรับเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์มากกว่าครอง เพศฆราวาส
วันหนึ่ง กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ ทรงล้อพระองค์ต่อหน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า เป็น “ผู้เข้าวัด” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงเห็นด้วยรับสั่งว่า “กรมหมื่นนุชิตชิโรรส (สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส) ก็ทรงผนวชไม่สึก” พระองค์กราบทูลว่า “บวชแล้ว ถ้าจะสึกก็สึกเมื่อพ้นพรรษาแรก หลังจากนั้นแล้วจะไม่สึก” คำนี้เสมือนหนึ่งเป็นปฏิญญาของพระองค์
สมเด็จ พระมหาสมณเจ้าฯ ทรงผนวชเป็นภิกษุเมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๒ เมื่อพระชันษาได้ ๒o พรรษา สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นอุปัชฌาย์ พระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จนฺทรงสี) วัดมกุฏกษัตริยาราม เป็นกรรมวาจารย์ ทรงผนวชแล้วเสด็จไปประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ต่อมาได้ย้ายไปประทับกับพระกรรมวาจาจารย์ ที่วัดมกุฏกษัตริยาราม
สาเหตุที่ทำให้พระองค์ผนวชก็คือ
(๑) การได้กัลยาณมิตรผู้มีนิสัยสงบ เรียบง่ายดังหมอเคาวัน
(๒) การได้พระอาจารย์ดีอย่างพระจันทรโคจรคุณ พระธรรมรักขิต และพระอุปัชฌา
จารย์คอยตักเตือนเสมอ
(๓) กระแสพระราชดำรัสชักชวนให้ผนวช ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า
เจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเข้าแปลบาลีได้เปรียญ ๕
ประโยค ได้รับพระราชทานสถาปนาให้ทรงเป็นกรมหมื่นวชิรญาณวโรรสเมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๔ และในปีนั้นเองก็ทรงได้รับตำแหน่งเป็นรองเจ้าคณะธรรมยุต

    ๑.๒) งานด้านการจัดการทางพระพุทธศาสนา ทรงได้รับสถาปนาเป็นอธิบดีสงฆ์ (เจ้าอาวาส) วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อพ.ศ. ๒๔๓๕ พระองค์ทรงวางระเบียบการบริหารวัดและพระพุทธศาสนา โดยทรงถือวัดบวรนิเวศเป็นแบบอย่างของวัดทั่วไป สรุปได้ดังนี้
(๑) ทรงจัดสอนภิกษุสามเณรผู้บวชใหม่ ให้ได้เรียนพระธรรมวินัย และภาษาไทย เริ่มจากทรงสอนในฐานะพระอุปัชฌาย์ ต่อมาขยายกว้างขึ้น จนกระทั่งเป็นแบบอย่างแก่วัดพระธรรมยุตอื่นๆ จนมีผู้เรียนทั่วทุกนิกาย ทรงเปิดประโยคนักธรรมสอบในสนามหลวง และสนามมณฑลต่างจังหวัด
(๒) ทรงจัดให้สวดมนต์ในพรรษาทุกวัน และให้ออกเสียงให้ถูกต้องตามฐานกรณ์ (ฐานเสียง)
(๓) ทรงจัดให้ภิกษุที่พรรษาต่ำกว่า ๕ ที่จบนักธรรมแล้ว มาเรียนบาลีทั้งหมด
(๔) ทรงจัดตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัย โดยพระบรมราชานุญาต
(๕) ทรงจัดการเรียนการสอน ทั้งหนังสือไทยและความรู้ในศาสตร์อื่นๆ ควบคู่กันไป ต่อมาเพื่อความเป็นเอกภาพในการศึกษาของชาติ จึงทรงใช้หลักสูตรของกรมศึกษาธิการแทน และโอนให้กรมศึกษาธิการจัดเป็นโรงเรียนรัฐบาล
(๖) ทรงฝึกพระธรรมกถึก จนสามารถแสดงธรรมปากเปล่าได้
(๗) ทรงจัดตั้งการฟังธรรมสำหรับเด็กวัดในวันธรรมสาวนะ ในเวลาค่ำโปรดให้สวดนมัสการพระรัตนตรัย รับศีล ๕ และฟังการอบรมสั่งสอนธรรม

   ๑.๓) งานนิพนธ์ทางพระพุทธศาสนา
(๑) ทรงตั้งหลักสูตร “สามเณรผู้รู้ธรรม” ทรงนิพนธ์ “นวโกวาท” ทดลองเรียนและสอบเฉพาะในวัดบวรนิเวทวิหารก่อน ต่อมาได้ขยายหลักสูตรนักธรรมตรี – โท- เอก สำหรับพระสงฆ์ทั่วไป
(๒) ทรงรจนาหนังสือแบบเรียนมากมาย อาทิ วินัยมุขเล่ม ๑-๒-๓ ธรรมวิจารย์ ธรรมวิภาค พุทธประวัติ แบบเรียนบาลีไวยากรณ์
(๓) หนังสือประเภทอื่นๆ เช่น ประเภทพระโอวาท พระธรรมกถา ประมาณ ๖๗ เรื่อง อาทิ ธรรมกถา (ประทานแก่ผู้แทนราษฎร) ประเภทประวัติศาสตร์และโบราณคดี อาทิ พงศาวดารสยาม ตำนานประเทศไทย ข้อความในตำนานเมืองเชียงแสน ประเภทอักษรศาสตร์ อาทิ ปรารภอักษรไทยที่ใช้สำหรับบาลี วิธีใช้อักษรในภาษามคธเทียบสันสกฤต วิธีแสดงไวยกรณ์ของตันติภาษา เป็นต้น
(๔) พระนิพนธ์ภาษาบาลี ทรงรจนาบทนมัสการพระรัตนตรัย ชื่อ นมสิการสิทธิคาถา (โยจักขุมา)

   ๑.๔) พระอิสริยยศ
(๑) ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงพระอิสริยยศที่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เมื่อพ.ศ. ๒๔๒๔
(๒) ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนสมณศักดิ์เป็นเจ้าคณะใหญ่แห่งคณะธรรมยุติกนิกาย พ.ศ. ๒๔๓๖
(๓) ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศที่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวชิรญาณวโรรส พ.ศ. ๒๔๔๙
(๔) ทรงได้รับพะกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดพระราชพิธี “มหาสมณุตมาภิเษก” เลื่อนพระอิสริยยศขึ้นเป็น กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโรรส ทรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระมหาสังฆปรินายก หรือเป็นองค์พระประมุขสงฆ์ทั่วพระราชอาณาจักร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ และเนื่องจากทรงเป็นพระบรมราชวงศ์ที่ทรงสมศักดิ์ขั้นสูงสุด จึงสถาปนาคำนำหน้าของพระองค์เป็น “สมเด็จพระมหาสมณ” (ต่อมาสมัยรัชกาลที่ ๖ทรงมีพระราชดำริจะถวายพระเกียรติยศให้สูงขึ้ จึงโปรดเกล้าๆ ให้เปลี่ยนคำนำหน้าพระนามจากสมเด็จพระมหาสมณเป็นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า)









๒) คุณธรรมที่ควรถือเอาเป็นแบบอย่าง



 
    ๒.๑) ทรงมีความรู้ใฝ่ศึกษา ดังจะเห็นว่าสมัยยังทรงพระเยาว์ พยายามเอาแบบอย่างที่ดีจากผู้ที่พระองค์ประทับใจ เช่น พระยาปริยัติธรรมธาดา เห็นว่าเป็นคนมีความรู้และความประพฤดี คอยศึกษาหาความรู้จากท่านเหล่านั้นเสมอ เมื่อทรงผนวชแล้วก็ไปฝากตนเป็นศิษย์ศึกษาธรรมจากพระเถระอื่นๆ ทั้งที่มิได้เป็นอาจารย์และพระอุปฌาย์โดยตรง

   ๒.๒) ทรงมีความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นเลิศ พระองค์ทรงเป็น “เจ้านาย” มาผนวชเป็นถึงพระอนุชาธิราชในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กลับไม่ถือพระองค์ ทรงกราบไหว้พระภิกษุที่อายุพรรษามากกว่า แม้มีสมณศักดิ์ต่ำกว่า สมัยเป็นคฤหัสถ์ทรงเห็นครูผู้ถวายความรู้ถวายบังคมทุกครั้งก่อนถวายความรู้ พระองค์ทรงเห็นว่าเขาเป็นถึงอาจารย์ ยังอ่อนน้อมถ่อมตนต่อพระองค์ จึงทรงเอาเป็นแบบอย่างเสมอมา เพราะครูนอบน้อมต่อพระองค์ในฐานะสามัญชนปฎิบัติต่อเจ้า พระองค์ก็ต้องทรงแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อครู

    ๒.๓) ทรงมีหิริโอตตัปปะเป็นเลิศ สมัยยังเป็นหนุ่ม เบื้องแรกทรงมีค่านิยมแบบฝรั่งใช้ของแพง ยี่ห้อดี ทรงใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ไม่รู้จักประหยัด ห้างร้านส่งบิลมาเก็บเงินที่ “ท่านยาย” ก็รอดตัวไปหลายครั้ง มีครั้งหนึ่งจะถูกฟ้องไม่มีเงินไปใช้หนี้ บังเอิญเจ้าพระยาภาณุวงศ์โกษาธบดี ยับยั้งไว้และกราบทูลให้พระองค์นำเงินไปใช้ให้เขาเสีย พระองค์ก็ทรงปฏิบัติตาม ฝ่ายโจทก์จึงถอนฟ้อง ทรงสำนึกได้ว่าพระองค์สร้างความลำบากให้ “ท่านยาย” และผู้อื่น เพราะความประพฤติที่ไม่เหมาะสม ทรงมีความละอายต่อการทำชั่วทำผิด จึงทรงเลิกเด็ดขาด แต่เมื่อมีผู้ล้อว่า “เป็นคนเข้าวัด” ก็ทรงเข้มงวดพระจริยวัตรมากขึ้น ไม่ทำอะไรให้ใครตำหนิได้ ให้สมกับเป็นคนเข้าวัดจริงๆ คุณธรรมข้อหิริโอตตัปปะนี้ได้ซึมซับในพระทัยของพระองค์มากถึงขนาดว่า เมื่อทรงผนวชเป็นภิกษุใหม่ๆ พระเจ้าอยู่หัวทรงก้มกราบอย่างอ่อนน้อม ก็ทรงละอายพระทัยว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระเชษฐาธิราชยังก้มกราบพระองค์ ควรที่พระองค์จะอยู่ในเพศบรรพชิตต่อไป ทรงประพฤติพระองค์ให้ควรแก่การกราบไหว้ ไม่ควรมีข้อน่าตำหนิได้ นี้คือแบบอย่างของผู้มีหิริโอตตัปปะเป็นเลิศ

    ๒.๔) ทรงมีความคิดริเริ่ม ทรงเห็นบทสวดมนต์นมัสการพระรัตนตรัยแบบเก่า (สัมพุทเธ) มีคติไปทางมหายานมากจึงทรงนิพนธ์ นมการสิทธิคาถา (โยจักขุมา) แทน เป็นความคิดริเริ่มที่เป็นแบบอย่างในการสืบทอดพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง เมื่อทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารแล้วทรงริเริ่มฝึกพระภิกษุสงฆ์ให้มี ความสามารถในการถ่ายทอดพระธรรมให้เข้าใจง่าย ทรงนิพนธ์หนังสือคู่มือศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างง่าย คือ นวโกวาท ซึ่งใช้เป็นหลักสูตรผู้บวชใหม่มาจนบัดนี้

    ๒.๕) ทรงมีวิสัยทัศน์กว้างไกล เนื่องจากทรงเป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่ศึกษา พระองค์จึงทรงมีวิธีคิดที่แยบคาย (โยนิโสมนสิการ) อย่างครบวงจรคือ คิดถูกวิธี คิดมีระเบียบ คิดเป็นเหตุเป็นผล และคิดก่อให้เกิดกุศล คือ สร้างสรรค์ในทางดี สมัยรัชกาลที่ ๕ ในยุคสมัยของพระองค์นั้น ความรู้แบบตะวันตกพร้อมทั้งกระแสวัฒนธรรมตะวันตก ได้แพร่เข้ามาสู่ประเทศไทย พระองค์ทรงมีวิธีคิดที่ดี คือ อะไรควรรับ อะไรควรปฏิเสธ หรือแม้แต่ที่รับมาแล้วจะต้องปรับประยุกต์ให้เข้ากับวิ๔ไทย แม้เมื่อทรงผนวชแล้ว ก็พยายามศึกษาศาสตร์สมัยใหม่แบบตะวันตกให้มีความรู้เท่านั้น เพราะทรงมองเห็นการณ์ไกลว่า พระสงฆ์มีหน้าที่สอนธรรม การสอนธรรมจะเป็นที่เข้าใจได้ดี ก็ต่อเมื่อผู้เทศน์ ผู้สอนมีความรู้ทั้งทางโลกทางธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น